10/10/51

การให้อภัย …ทำอย่างไร

พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ (ปฐก. 1:27) พระองค์ทรงสร้างเราแต่ละคนให้แตกต่างกัน แต่พระองค์ทรงรักเราทุกๆ คนเท่ากัน สิ่งที่ปรากฏภายนอกนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา แต่ “จิตใจ” ที่อยู่ภายในเราต่างหากที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา รูปร่างภายนอกเปรียบเสมือนภาชนะที่หุ้มห่อตัวเราเท่านั้น และก็ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะเหมือนกันทุกประการเหมือนกับการทำ “โคลนนิ่ง” แม้แต่เป็นคู่แฝดกันก็ตาม นี่เป็นฝีพระหัตถ์ที่ยอดเยี่ยมของพระเจ้าพระผู้สร้างของเรา

จิตใจที่พระเจ้าทรงสร้างมาแต่ดั้งเดิมนั้นบริสุทธิ์ ใสสะอาด ปราศจากความบาปใดๆ ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากซาตานได้มาล่อลวงบรรพบุรุษของเรา “เหตุฉะนั้นเช่นเดียวกับที่บาปได้เข้ามาในโลกเพราะคนเดียว และความตายก็เกิดมาเพราะบาปนั้น และความตายก็ได้แผ่ไปถึงมวลมนุษย์ทุกคนเพราะมนุษย์ทุกคนทำบาป” (รม. 5:12) มนุษย์ทุกคนทำบาป “เพราะไม่มีมนุษย์สักคนหนึ่งซึ่งมิได้กระทำบาป” (1 พกษ. 5:12)

จะเห็นว่าทุกคนหนีไม่พ้นความบาป เพราะ “บาปก็หมอบอยู่ที่ประตู” (ปฐก. 3:7) โดยธรรมชาติฝ่ายเนื้อหนังมนุษย์มักหนีไม่พ้นการทำบาป ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อน้ำพระทัยของพระเจ้าและพระวิญญาณบริสุทธิ์ แม้แต่เรารู้ว่าสิ่งใดถูกต้องแต่เพิกเฉยไม่ทำตามเราก็ทำบาปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้พระบิดาต้องส่งพระบุตรองค์เดียวของพระองค์มาเพื่อไถ่ความบาปของเราทุกคน “…พระองค์ได้ทรงปรากฏ เพื่อกำจัดบาปของเราให้หมดไป…” (1 ยน. 3:5ก) และมิใช่ว่าเพราะว่าเรามีคุณค่ามากพอที่สมควรจะได้รับการไถ่นั้น แต่เป็นเพราะพระเมตตาคุณและพระกรุณาคุณของพระองค์และการที่พระองค์ทรงรักคนบาปทั้งหลายก่อนต่างหาก ยิ่งเราเห็นความบาปของเรามากขึ้นเท่าใด เราก็จะเห็นพระคุณของพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น (ดู รม. 5:20) เมื่อเราตระหนักถึงความบาปผิดของเราแล้ว สิ่งแรกคือต้องยอมรับว่าเราได้ล่วงละเมิดต่อพระเจ้าก่อน แล้วอธิษฐานสารภาพความผิดนั้น และทูลขอการทรงอภัยจากพระองค์ และต้องไม่ทำบาปเช่นนั้นอีกต่อไป การที่จะยอมเลิกทำอะไรที่เคยทำอยู่ หรือการปล่อยวางภาระหนักที่ถ่วงเราอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ ต้องอาศัยศิลปะชั้นยอดซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งเลยทีเดียว เมื่อเราอธิษฐานทูลขอการทรงอภัยจากพระเจ้าแล้ว ให้เชื่อย่างมั่นคงว่าเราได้รับการภัยแล้วจริงๆ ขอบพระคุณแล้วก็ให้อภัยตัวเองซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำใช่ไหม แต่อย่าลืมว่าการให้อภัยหรือการได้รับการอภัยเป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่จะปลดปล่อยเราให้เป็นอิสรั ไม่มีสิ่งใดจะทำร้ายจิตใจเราได้ถ้าเราไม่ยอม เราต้องไม่ปล่อยให้แผลในใจเน่าเฟะจนเป็นอันตรายต่อชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของรา ขอการเสริมกำลังจากพระเจ้า ขอความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหาใดๆ ขอความเชื่อมั่นว่าเราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วจากบาปทั้งมวล ไม่ต้องอธิษฐานซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าขอให้พระเจ้าทรงให้อภัย แต่ถ้ารู้สึกยังมีอะไรๆ ในใจที่ไม่ชัดเจนก็ให้อธิษฐานว่าขอขอบพระคุณที่พระเจ้าทรงให้อภัยแล้ว “อย่าจดจำสิ่งล่วงแล้วนั้น อย่าพิเคราะห์สิ่งเก่าก่อน” (อสย. 43:18ก) แล้วชีวิตของท่านจะสงบขึ้น มีความสุขมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความทุกข์ใดๆ อีก แต่ที่ว่าเป็นสุขขึ้นนั้นคือ เราพบวิธีที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้นต่างหาก

เมื่อเราได้รับการอภัยแล้ว พระองค์จะนำความรอดมาเป็นอาภรณ์ห่มให้เรา และปกคลุมเราด้วยความชอบธรรม ถ้าจะมีใครสักคนอ้างว่าตนไม่เคยทำบาป นั่นเป็นการหลอกลวงตนเองและปฏิเสธความจริง เพราะไม่มีมนุษย์แม้สักคนเดียวที่ปราศจากความบาป นอกจากองค์พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้า (ดู ยน. 3:5ข) เรามักจะเดินทางที่กว้างและสะดวกสบายซึ่งนำไปสู่ความหายนะมากกว่าทางที่แคบและขรุขระเต็มไปด้วยขวากหนามซึ่งนำไปสู่ความรอดและพระพรที่หลั่งไหลมาสู่เราและเป็นความมั่งคั่งของเรา เรามักจะหลีกเลี่ยง ดังนั้น จงระวังให้ดีและเลือกทางเดินให้ถูกต้อง เมื่อใดที่พบความยากลำบาก เมื่อใดที่เราเริ่มบ่น จงหันมานับพระพรที่พระองค์ประทานให้ ถ้าเรานับพระพรทีละอันๆ เราจะพบว่ามีมากมายจนนับไม่ถ้วยเลยทีเดียว

ความบาปมีพิษและอำนาจทำลายล้างอย่างมหาศาล แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เกิดความแตกแยกกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า แต่ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าความบาปของเราจะหมดไปด้วยการให้อภัยของพระเจ้า และความจริงข้อนี้แหละที่ทำให้ศาสนาคริสต์แตกต่างจากศาสนาอื่นโดยสิ้นเชิง พระเจ้าตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเผื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (มธ. 5:44) จะมีสักกี่คนที่เมื่ออ่านพระวจนะนี้แล้วจะไม่มีคำถามในใจว่า ทำได้อย่างไรกัน แต่พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของเราทำได้ มนุษย์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะต้องทำให้ได้ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดก็ตาม ถึงแม้ต้องผ่านขั้นตอนแห่งความทุกข์ ปวดร้าวใจ และควมพยายามอย่างสูงสุดก็ตาม แต่ถ้าเรายอมจำนนต่อพระเจ้า เชื่อฟัง การให้อภัยต่อกันก็จะค่อยๆ ตามมา ถ้ายังทำไม่ได้ให้เพ่งดูที่องค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเรา แล้วท่านจะทำได้ในที่สุด

การให้อภัยเป็นขบวนการที่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ในจิตใจของผู้ที่บาดเจ็บ และถ้าผู้ใดที่ทำผิดและนำความเจ็บปวดสู่ผู้อื่นมีความรู้สึกเช่นนั้นด้วย ก็จะเป็นการรื้อกำแพงแห่งความบาดหมางระหว่างบุคคลทั้งสองให้พังทลายลง ซึ่งขบวนการให้อภัยทั้งหมดมี 4 ขั้นตอนคือ

1. ความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเกิดจากคำพูดหรือการกระทำ เมื่อเจ็บแล้วก็เกิดแผลและสิ่งเดียวที่จะสามารถรักษาแผลนั้นได้คือ การให้อภัย แต่ก่อนอื่นเราต้องให้อภัยตัวเองก่อน เพราะพระเจ้าตรัสว่า “ให้เราให้อภัยซึ่งกันและกัน” เมื่อเราให้อภัยกันแล้วถึงแม้แผลนั้นจะยังอยู่ แต่ความรู้สึกเมื่อเราหวนนึกถึงรอยแผลเหล่านั้นจะไม่เหมือนเดิม เราจะไม่รุ่มร้อนด้วยความโกรธหรือเจ็บปวดและอยากจะแก้แค้นเหมือนเดิม มีแต่ความสงบเข้ามาในจิตใจของเราแทน ช่างมหัศจรรย์จริงๆ วิธีการของพระเจ้าช่างเป็นวิธีที่เกินความรู้ที่มนุษย์จะเข้าใจได้จริงๆ สรรเสริญพระเจ้า!

2. ความเกลียด เราไม่สามารถจะวัดความเจ็บปวดของเราว่ามีมากเท่าไร แต่เมื่อถึงขั้นนี้เราคงไม่มีความปรารถนาดีต่อผู้ที่ทำผิดต่อเราอย่างแน่นอน ยิ่งเป็นคนที่เรารักมากเท่าไร ความเกลียดก็ยิ่งมีมากเท่านั้น และเราจะไม่สามารถอธิษฐานเผื่อเขาได้อีกต่อไป ไม่อยากพบหน้าหรือไม่อยากได้ยินแม้แต่เสียง และเราก็อยากให้เขาได้รับความเจ็บปวดอย่างที่เราได้รับบ้าง และทั้งสองฝ่ายก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่อาจทำดีต่อกันได้อีกต่อไป และไม่พลาดโอกาสที่จะทำร้ายกัน ความรักทำให้เกิดความผูกพันกัน และความเกลียดก็ทำให้เกิดความแตกแยกกัน

3. การรักษา เราผ่านสองขั้นตอนที่เลวร้ายมาแล้ว ขั้นตอนนี้เราจะเห็นคนที่ทำผิดต่อเราในอีกแง่มุมหนึ่ง เปรียบเสมือนว่ามี “ตาวิเศษ” ความทรงจำอันเลวร้ายจะได้รับการรักษาและความเจ็บปวดจะค่อยๆ หายไป และแทนที่ด้วยความอิสระและความสงบ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความเข้มแข็ง

ขั้นตอนแรกของการรักษาคือ เราต้องไม่คิดถึงผู้ที่เราต้องให้อภัยและอย่าตั้งคำถามในใจว่า
“จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้นั้น” แต่ให้มองที่ตัวเราซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเจ็บปวดและต้องเป็นผู้ที่ให้อภัย เราต้องยอมจำนนต่อพระเจ้าและลืมความเจ็บปวด ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านพ้นไป เมื่อเราผ่านขั้นตอนการรักษาและเข้าสู้ขั้นตอนการให้อภัย เราจะมองไม่เห็นความผิดของเขาอีกต่อไป แต่จะเห็นความจริงที่ว่า มนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป และมีโอกาสทำผิดตลอดเวลา

4. การคืนดีกัน เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อถึงขั้นตอนนี้เราต้องสามารถอธิษฐานเผื่อผู้นั้นได้แล้ว เราต้องรักเขาให้ได้ด้วยความรักของพระคริสต์ การให้อภัยมิใช่จบลงตรงนี้ การให้อภัยยังไม่สมบูรณ์ตามขบวนการถ้าเราไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ให้เหมือนเดิมได้

การให้อภัยเป็นขบวนการ 2 ทางคือ ต้องมีการให้และการยอมรับ อย่าขอร้องให้คนอื่นให้อภัยเมื่อเราทำผิด แต่จงกลับใจใหม่ การให้อภัยเป็นสิ่งที่เราต้องให้แก่ผู้ที่ทำผิดต่อเรา ไม่ใช่เป็นการถูกบังคับและก็เป็นสิ่งที่ร้องขอเอาก็ไม่ได้เช่นกัน ขอให้ตระหนักว่าการให้อภัยมีแต่ “การให้” สถานเดียว

การอธิษฐานเป็นยาวิเศษในยามที่เราเจ็บปวด และเมื่อรู้สึกว่ายากลำบากนักที่จะทำตามพระบัญชาของพระเจ้า ขอให้คำอธิษฐานดังนี้ว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอทรงโปรดรักษาความเจ็บปวดภายในจิตใจของข้าพระองค์จนกว่าข้าพระองค์จะหายและเข้มแข็งอีกครั้ง จนกว่าข้าพระองค์จะได้รับความรักและสันติสุขในใจ และจนกว่าข้าพระองค์สามารถให้อภัยต่อผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์ได้ เอเมน”

สิธยา คูหาเสน่ห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น