9/10/51

บาปคืออะไร

บาป เป็นคำพยางค์เดียว ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า “การกระทำผิดหลักคำสอนหรือข้อห้ามในศาสนา ความชั่ว ความมัวหมอง”

การกระทำผิดหลักคำสอนหรือข้อห้ามในศาสนาพอจะเป็นรูปธรรมที่เห็นได้หรือสัมผัสได้ แต่ “ความชั่ว” หรือ “ความมัวหมอง” เป็นนามธรรมที่ไม่มีมาตรฐานใดๆมาวัดได้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เพราะเราจะเอากฎเกณฑ์มาจากไหน ความชั่วในสายตาของคนหนึ่งอาจเป็นความดีในสายตาของอีกคนหนึ่งก็ได้ สันดานของมนุษย์ไม่มีใครยอมรับว่าตัวทำผิดหรอก จะต้องโทษคนอื่นก่อนเสมอ และ “ความมัวหมอง” ที่เกิดขึ้นจากการทำชั่วหรือทำบาปก็จะเป็นชนักติดหลัง และเป็นแผลในใจของเราตลอดไป

แต่เราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชื่อ เป็นคริสตชนที่ดำเนินชีวิตตามอย่างพระเยซูคริสต์ เราคงมีคำตอบสำหรับข้อสงสัยนี้ เราจะวัดความประพฤติของเราได้จากมาตรฐานของพระเจ้า แต่ก็อีกนั่นแหละมาตรฐานของพระเจ้าสูงเกินกว่าที่มนุษย์อย่างเราๆจะปฏิบัติตามได้ เราจึงยังคงทำบาปอยู่ แต่พระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าที่เป็นความรักและพระเจ้าที่ให้อภัย พระองค์จะนับหนึ่งกับเราเสมอเมื่อเราสารภาพความบาปของเราและทูลขอการอภัยจากพระองค์ เราจะได้รับการชำระ (อสย. 1:18) และมีชีวิตใหม่ตามแบบอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงปรารถนาให้เราเป็น (ดู คส. 3:1-17)

ขอให้จำไว้ว่าเมื่อมีความบาปสิ่งที่ตามมาจะมีแต่ความเจ็บปวดและการทำลายล้าง ซึ่งพอจะสรุปสั้นๆได้ว่า ความบาปเป็น:
- สิ่งที่ทำลายชีวิต
- สิ่งที่นำมาซึ่งความปวดร้าวใจและความทนทุกข์ทรมาน
- สิ่งที่ขัดต่อกฎหมายของฝ่ายโลกและของพระเจ้า
- สิ่งที่เราเลิกทำไม่ได้
- เป็นความผิดที่เราไม่สามารถแก้ไขได้

ผลที่ตามมาคือ:
- การทำร้ายตนเอง
- คนอื่นก็ถูกทำลายด้วยคำพูดและการกระทำของเรา
- ครอบครัวแตกแยก
- การแตกแยกระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
- การทำลายโลก
- ความปวดร้าว ความขมขื่นจากความรู้สึกผิด

การทรงอภัยของพระเจ้าทำให้ศาสนาคริสต์แตกต่างจากศาสนาอื่นโดยสิ้นเชิง พระเจ้าตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเผื่อคนที่ข่มเหงท่าน” (มธ. 5:44) เราต้องเชื่อฟังและทำตามพระบัญชาของพระเจ้า แต่ข้อพระวจนะดังกล่าวข้างต้นถ้าอ่านครั้งแรกคิดว่าทุกคนคงจะมีคำถามในใจว่า “ใครจะทำได้” แต่พระเจ้าของเราทรงทำได้ พระองค์ทรงมีใจกรุณาต่อผู้ที่ไม่ตระหนักถึงพระคุณของพระองค์ และทรงอวยพรต่อคนชั่วร้าย ถ้าเราทำได้เราจะมีชีวิตที่เหมือนบุตรมนุษย์คือ พระเยซูคริสตเจ้า คริสเตียนแท้ทุกคนจะต้องมีชีวิตที่เหมือนพระเยซู แต่นั้นมิใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ เราจะต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องทนทุกข์ ปวดร้าวใจ และสิ่งที่ยากที่สุดคือการเชื่อฟังพระเจ้าหรือการยอมจำนนต่อพระองค์นั่นเอง แต่ถ้าเรายอมถ่อมใจลงและยอมจำนนและเชื่อฟังเชื่อฟัง การให้อภัยก็จะตามมา

การให้อภัยเป็นขบวนการที่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆในจิตใจ และถ้าผู้ใดที่ทำผิดมีการพัฒนาเช่นนั้นด้วย ก็จะเป็นการรื้อกำแพงแห่งความชอกช้ำให้พังทลายลง ซึ่งขบวนการนี้มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้คือ
1. ความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเกิดจากคำพูดหรือการกระทำ เมื่อเจ็บก็จะเกิดแผลและสิ่งเดียวที่จะสามารถรักษาแผลหรือรอยแห่งความเจ็บปวดนั้นก็คือ การให้อภัยผู้ที่ทำผิดต่อเรา (ไม่ใช่เรื่องง่าย ใช่ไหม?) แต่ก่อนอื่นเราจะต้องให้อภัยตัวเราเองก่อน ถ้าจะถามว่าเมื่อเราสามารถให้อภัยแล้ว เราจะลืมอดีตที่ขมขื่นได้หรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่ได้” เพราะรอยแผลนั้นไม่ว่าจะเป็นแผลใหม่หรือแผลเป็นที่ติดแน่นอยู่ในคลังแห่งความทรงจำของเรา เราคงจะไม่สามารถลืมอย่างแน่นอน เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนอดีตได้ พระเจ้ามิได้ประทานความสามารถในการเปลี่ยนหรือลบอดีตให้หมดไปแก่เรา แต่พระเจ้าให้เรา “อภัยซึ่งกันและกัน” เมื่อเราให้อภัยกันแล้วถึงแม้รอยแผลเป็นจะยังอยู่ แต่ความรู้สึกเมื่อหวนนึกถึงอดีตจะไม่เหมือนเดิม เราจะไม่รุ่มร้อนด้วยความโกรธหรือเจ็บปวดและอยากจะแก้แค้นอีกต่อไป จะมีแต่ความสงบและตวามเข้าใจมาแทนที่ ช่างมหัศจรรย์จริงๆ!! วิธีการของพระเจ้าช่างเป็นวิธีที่เกินความรู้ที่มนุษย์อย่างเราจะสามารถเข้าใจได้
2. ความเกลียด เราไม่สามารถจะวัดความเจ็บปวดว่ามีมากน้อยเท่าไร และเมื่อถึงขั้นนี้เราคงไม่มีความปรารถนาดีต่อผู้ที่ทำผิดต่อเราอย่างแน่นอน ยิ่งรักมากก็ยิ่งเกลียดมาก และเราจะไม่สามารถอธิษฐานเผื่อเขาได้อีกต่อไป ไม่อยากพบหน้าหรือแม้แต่เสียงก็ไม่อยากได้ยิน และเราก็อยากให้เขาได้รับความเจ็บปวดอย่างที่เราได้รับบ้าง นี่คือความเกียดหรือความไม่ปรารถนาดีอย่างไม่ต้องการให้เกิดผลจริงๆ ซึ่งมีผลทำให้เราต้องขาดจากความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกัน และต่างก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่อาจทำความดีได้อีกต่อไป และไม่เคยพลาดจากการทำร้ายซึ่งกันและกันเลย ความรักทำให้เราผูกพันกันและความเกลียดก็คงจะหนีความแตกแยกไม่พ้น และก็มาถึงขั้นตอนที่ 3 เพราะความเกลียดต้องการการเยียวยารักษา
3. การรักษา เราผ่านขั้นตอนที่เลวร้ายมาแล้วสองขั้นตอน ตอนนี้เราจะเห็นคนที่ทำผิดต่อเราในอีกแง่มุมหนึ่ง เปรียบเสมือนว่าเรามี “ตาวิเศษ” ความทรงจำอันเลวร้ายจะได้รับการเยียวยารักษา และความเจ็บปวดจะค่อยๆจางหายไป และแทนที่ด้วยความเป็นอิสระและความสงบ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความแข็งแกร่งดุจนอินทรีที่กางปีกร่อนถลาไปในอากาศอย่างสง่างาม และ “ขอทรงรักษาข้าพระองค์ดังแก้วตา ทรงซ่อนข้าพระองค์ไว้ภายใต้ร่มปีกของพระองค์” (สดด. 17:8) พระเจ้าตรัสว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่ว แต่จงมุ่งกระทำสิ่งที่ใครๆก็เห็นว่าดี” (รม. 12:17)
4. การคืนดีกัน เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อถึงขั้นตอนนี้เราต้องสามารถอธิษฐานเผื่อผู้ที่ทำผิดต่อเราได้แล้ว เราต้องรักเขาด้วยความรักของพระคริสต์ด้วย การให้อภัยมิใช่จบลงเพียงขั้นตอนที่สามเท่านั้น ถ้าเราจะบอกว่าให้อภัยแต่จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับคนนั้นๆอีก จะไม่พูดกับเขา ไม่พบหน้า และจะไม่มีสัมพันธภาพใดๆกันอีก หรืออย่างดีที่สุดก็แค่ทักทายกันตามมารยาทเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ ขบวนการให้อภัยก็ยังไม่สมบูรณ์

การให้อภัยเป็นขบวนการ 2 ทาง คือ ต้องมีการให้และการยอมรับ อย่าขอร้องให้คนอื่นให้อภัยเมื่อเราทำผิด แต่จงกลับใจใหม่ การให้อภัยเป็นสิ่งที่ต้องให้ ไม่ใช่เป็นการถูกบังคับและก็เป็นสิ่งที่ร้องขอเอาก็ไม่ได้เช่นกัน ขอให้ระลึกว่า การให้อภัยมีแต่ “การให้” เท่านั้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ลำพังเฉพาะตัวเราเองคงทำไม่ได้แน่ ถ้าเราไม่อธิษฐานสารภาพบาปของเรา และขอการเสริมกำลังจากพระเจ้าเพื่อสามารถจะให้อภัยคนอื่นได้

ขอให้อธิษฐานดังนี้ว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอทรงโปรดรักษาความเจ็บปวดภายในจิตใจของข้าพระองค์ จนกว่าพระองค์จะหายและเข้มแข็งอีกครั้ง จนกว่าข้าพระองค์จะได้รับความรักและสันติสุขในใจ และจนกว่าข้าพระองค์สามารถให้อภัยต่อผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์ได้ เอเมน”

อาจจะสรุปได้ว่า เมื่อเกิดการให้อภัย นั่นหมายความว่า
- เราได้เห็นการสร้างสรรค์เกิดขึ้นท่ามกลางมนุษยชาติ
- เราได้รักษาอดีตแห่งความเจ็บปวด ซึ่งมีผลให้เกิดแผลในใจในปัจจุบัน และเสมือนการวางยาพิษในอนาคตข้างหน้าให้หมดไป
- เราได้ทำการอัศจรรย์ซึ่งไม่เป็นที่ปรากฏต่อสายตาของผู้อื่น แต่เกิดขึ้นเงียบๆภายในใจของเรา
- เราทำด้วยความจำนนต่อพระเจ้า ไม่มีใครสามารถบังคับเราได้
- เราไม่ตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว
- เราจะมีชีวิตเหมือนพระผู้สร้างของเรามากขึ้นทุกวันๆ เพราะเราได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นในใจของเราแทนที่ความเจ็บปวดในอดีต และเราก็มีการรักษาเพื่อป้องกันมิให้ความเจ็บและความขมขื่นนั้นนำเราไปสู่ความตาย
- เราจะเดินเคียงข้างไปกับพระเจ้าด้วยความรักของพระองค์ และเราจะให้ความรักนั้นต่อผู้อื่นด้วย
- และแผลของเราได้รับการเยียวยารักษาซึ่งแท้จริงเราไม่สมควรที่จะได้รับ

ข้าพเจ้าหวังว่าบทความข้างต้นนี้คงเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมความเชื่อไม่มากก็น้อย และอยากเห็นการให้อภัยเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าค่อนข้างแน่ใจว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาของคนมากมายซึ่งรวมทั้งตัวข้าพเจ้าด้วย อย่าลืมอธิษฐานเผื่อเรื่องนี้ด้วยสำหรับทุกๆคนรวมทั้งตัวท่านเองด้วย ให้พระเจ้าทรงเสริมกำลังเราและให้หนามใหญ่ในใจของเราทุกคนหลุดออกไป เพื่อประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าของเรา อยากจะย้ำว่าเวลาของเราเหลือน้อยแล้ว การนับถอยหลังเกิดขึ้นแล้วเหมือนกับทีเรานับถอยหลังเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ที่ผ่านมา ทุกวินาทีที่ผ่านไปมีค่ายิ่งนัก รึท่านไม่เสียดาย

สิธยา คูหาเสน่ห์





2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณพระเจ้า และขอบคุณผู้เขียนบทความดีๆ มาหนุนใจ ขอพระเจ้าอวยพระพรคุณสิธยาค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นค่ะ ขอพระเจ้าอวยพระพรเช่นกันค่ะ

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น