3/9/54

รูปแบบของการอธิษฐาน


คราวที่แล้วพูดถึงแบบพื้นฐานของการอธิษฐานไปแล้ว ต่อไปใคร่อยากพูดถึงรูปแบบของการอธิษฐานบ้างซึ่งพอจะแบ่งคร่าวๆ ได้ 4 แบบ ที่ขึ้นกับบุคลิกลักษณะส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

แบบที่ 1 แบบอุทิศถวาย หรือการอธิษฐานแบบอิงพระวจนะ หลายคนชอบอ่านพระวจนะที่เปิดทางให้มีโอกาสสนทนากับพระเจ้า คนพวกนี้มักเริ่มต้นอธิษฐานด้วยการอ่านบทเพลงสดุดี การอธิษฐานรูปแบบนี้เป็นการขะมักเขม้นในการอธิษฐานอย่างสัตย์ซื่อ (ดู กจ. 1:14; 2:42 และ รม. 12:12)

แบบที่ 2 แบบเกิดขึ้นทันที คำอธิษฐานแบบนี้หลั่งไหลออกจากใจโดยไม่ได้วางแผนไว้ก่อน เป็นการอธิษฐานที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยมากมักเป็นคำอธิษฐานขอบพระคุณ การอธิษฐานทูลขอสติปัญญาในการกระทำบางอย่าง การอธิษฐานทูลขอเพื่อความจำเป็นที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นต้น

แบบที่ 3 แบบสนทนา บางคนอธิษฐานยาวเหมือนกำลังสนทนากับพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ เพราะมีความแน่ใจว่าพระองค์ทรงฟังสิ่งที่กำลังพูด ซึ่งการอธิษฐานแบบนี้ (สำหรับข้าพเจ้า) เหมือนกำลังสนทนากับพระเจ้า (เราสามารถทำได้เพราะพระองค์ทรงเป็นสหายของเรา) คำอธิษฐานแบบนี้เป็นการกล่าวออกมาจากใจในสิ่งที่เราอยากทูลพระเจ้า เป็นการมอบภาระทุกสิ่งไว้กับพระองค์ ไม่ต้องคำนึงว่าคำอธิษฐานของเราจะฟังสวยหรูแบบบางคนหรือไม่ ขอแค่เทใจสนทนากับองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น รูปแบบนี้จะทำให้สมาชิกในกลุ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราจะไม่สามารถเข้าใกล้ชิดกับพระเจ้าหากเราไม่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อกันและกันก่อน

แบบที่ 4 แบบการกระทำ บางคนอธิษฐานในขณะที่กำลังเดินหรือกำลังทำบางสิ่งบางอย่าง คนพวกนี้เห็นว่าการนั่งลงอธิษฐานเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา และคิดว่าอธิษฐานในขณะที่กำลังกระทำอะไรบางอย่างเป็นการดีกว่า สำหรับคนพวกนี้การกระทำบางสิ่งบางอย่างถือเป็นการอธิษฐานของพวกเขา

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรูปแบบบางอย่างของการอธิษฐานเท่านั้น บางคนอาจมีรูปแบบที่ต่างออกไป สำหรับข้าพเจ้าถนัดอธิษฐานเงียบๆ ตามลำพัง ไม่ได้กำหนดเวลาแน่นอนตายตัวว่าเป็นช่วงใดของวัน ข้าพเจ้าไม่ใช่นักอธิษฐาน ดังนั้นคำอธิษฐานของข้าพเจ้ามักสั้นและเข้าเป้าเลย ข้าพเจ้าอธิษฐานหลายช่วงในแต่ละวัน ซึ่งถ้าจะพิจารณาแล้วก็มีทั้งสี่แบบที่กล่าวมาข้างต้นรวมกัน

ข้าพเจ้าเชื่อว่าการอธิษฐานก็คือการสนทนาแบบหนึ่ง เมื่อเป็นการสนทนาจึงต้องเป็นแบบสองทาง นั่นคือ ต้องมีผู้พูดและผู้ฟัง เมื่อเราอธิษฐาน นั่นคือ เราเป็นผู้พูด และพระเจ้าทรงเป็นผู้ฟัง ในการสนทนาโดยทั่วไปผู้พูดก็ต้องเป็นผู้ฟังด้วย นั่นหมายความว่าในขณะที่เราอธิษฐานนั้น เราต้องไวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้าที่จะตรัสกับเราด้วย อย่าสวมบทบาทผู้พูดตลอดการสนทนา และจากประสบการณ์ส่วนตัวนั้นสิ่งที่พระองค์ตรัสกับเรามิได้เกิดขึ้นในช่วงการอธิษฐานเสมอไป บางครั้งพระองค์ตรัสผ่านคนอื่นในเวลาอื่น หรืออาจเป็นข้อพระวจนะที่เราจะอ่านพบในเวลาต่อมา หรืออาจเป็นข้อความในหนังสือบางเล่ม หรืออาจเป็นการกระตุ้นในใจของเรา หรือที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับตัวข้าพเจ้าคือ เป็นความคิดที่แวบเข้ามา เป็นความมั่นใจที่เกิดขึ้นในทันที ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าผู้เชื่อแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน แต่ข้าพเจ้ายืนยันว่าพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่จริงๆ พระองค์ทรงสดับฟังคำอธิษฐานของเรา และพระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานของเราเสมอ แต่อย่าลืมว่าคำตอบที่ยังมาไม่ถึงมิได้หมายความว่าพระองค์ทรงปฎิเสธ แต่หมายความว่ายังไม่ใช่เวลาที่เราจะได้ตามที่ขอ แต่ถ้าขอแล้วไม่ได้จริงๆ ก็หันมาดูว่าเราขอผิดหรือไม่ (ยากอบ 4:3 ท่านขอและไม่ได้รับ เพราะท่านขอผิด หวังได้ไปเพื่อสนองกิเลสตัณหาของท่าน) อย่าท้อใจเมื่อได้ได้คำตอบ ขอให้ขะมักเขม้นในการอธิษฐานต่อไป

สิธยา คูหาเสน่ห์